วิธีรักษาสิวเสี้ยน: 7 วิธีกำจัดสิวเสี้ยนอย่างเห็นผล
สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ตั้งแต่วัยรุ่น วัยกลางคน จนถึงวัยสูงอายุก็สามารถพบได้ สิวเสี้ยนเกิดจากความผิดปกติของต่อมรูขุมขนโดยมีลักษะคล้ายสิวอุดตันหัวดำ (black comedone) และมีกระจุกขนเล็กๆ หลายเส้นแทรกอยู่ในสิวอุดตันนั้นด้วย มีลักษณะเป็นจุดดำๆ เล็กๆ ตามใบหน้า หรือมีหนามแหลมๆ ยื่นออกมาทางรูขุมขนจำนวนมาก มักพบบริเวณปลายจมูก หน้าผาก ข้างแก้ม บริเวณคาง ไหล่ หรือที่หลังบริเวณกระดูกสะบัก
วิธีกำจัดสิวเสี้ยนอย่างเห็นผล มีดังนี้
1. การทายารักษาสิวเสี้ยน
1.1) ใช้กรดวิตามินเอ (retinoic acid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยละลายการอุดตันของต่อมไขมัน ลดการเกาะตัวของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณรูขุมขน จึงป้องกันการเกิดสิวเสี้ยนใหม่ และทำให้สิวเสี้ยนหลุดออกได้ง่าย ข้อควรระวังคือ กรดวิตามินเอ ทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังได้ง่าย อาจทำให้ผิวแห้ง แสบและลอก ดังนั้นกรดวิตามินเอควรทาเฉพาะบริเวณจมูก หน้าผาก หรือคางที่มีสิวเสี้ยน วันละครั้งก่อนนอน
1.2) ใช้ยาทากลุ่มเบนซิลเปอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) โดยใช้ทาทั่วหน้าก่อนล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือก่อนนอน แล้วทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ยานี้ออกฤทธิ์โดยลดปริมาณไขมันที่ผิวหนัง และช่วยละลายสิ่งสกปรกที่อุดตันตามรูขุมขน จึงทำให้ลดการอุดตันของต่อมไขมันได้
2. การใช้แผ่นลอกสิวเสี้ยน
โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบแผ่นแปะจมูกที่เคลือบสารที่ทำให้ติดแน่น นำไปวางบริเวณที่มีสิวเสี้ยนแล้วดึงออก สิวเสี้ยนจะหลุดติดออกมา วิธีนี้ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ราคาไม่แพง สิวเสี้ยนสามารถหลุดออกมาได้บ้าง แต่มักกำจัดสิวเสี้ยนได้ไม่หมด และไม่สามารถกำจัดสิวเสี้ยนได้ทุกที่ แต่ควรระมัดระวัง เพราะสารเคมีที่ใช้ อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ และไม่ควรใช้เกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
3. ใช้เครื่องมือกดสิว (comedone extractor)
กดตามบริเวณที่เป็นสิวเสี้ยนดำ ถ้าเป็นสิวหัวดำก็จะมีก้อนไขมันสีดำกลมๆ เล็กๆ ผุดออกมา ถ้าเป็นสิวเสี้ยนชนิดเส้นขนอุดตันก็จะได้กระจุกของเส้นขนอุดตัน แต่วิธีนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้ และหากกดไม่ถูกวิธี สิวอุดตันอาจจะแตกออกจากท่อรูขุมขนโดยยังฝังอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาได้
4. การลอกหน้าด้วยกรดผลไม้ (chemical Peeling)
เป็นกรรมวิธีทำให้เกิดการลอกหลุดของเซลล์ผิวหน้า รวมทั้งไขมันที่อุดตัน ด้วยกรดผลไม้ (Alpha Hydroxy Acid: AHA) หรือ trichloracetic acid (TCA) ทำให้สิวเสี้ยนง่ายต่อการกดออก อย่างไรก็ตาม การลอกผิวหน้าหรือการกดออกมักได้ผลในระยะเวลาสั้นๆ อาจต้องทายาร่วมด้วยเพื่อป้องกันการเกิดใหม่ของสิวเสี้ยน
5. มาสก์ผิวด้วยไข่ขาว
เป็นวิธีที่เก่าแก่ แต่ช่วยให้สิวเสี้ยนลอกตัวออกมาได้บ้าง โดยทาไข่ขาวบางๆ ที่จมูกหรือข้างแก้ม แล้วนำกระดาษซับหน้าเพียงชั้นเดียว หรือกระดาษชำระคลี่ให้บาง จากนั้นแปะทับลงไป ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วจึงดึงออก ก็จะมีสิวเสี้ยนหลุดติดออกมาด้วย
6. การใช้เครื่อง IPL (intense pulse light)
เนื่องจากสิวเสี้ยนคือ กระจุกขนที่อัดแน่นบริเวณรูขุมขน การกำจัดด้วยเครื่อง IPL จึงสามารถทำให้ขนที่คุดคู้เหล่านี้หลุดออกได้ เมื่อทำควบคู่กับการลอกหน้าด้วยกรดผลไม้ และการทายารักษาสิวเสี้ยน วิธีนี้จะช่วยป้องกันการเกิดเซลล์ขนใหม่ในบริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ดี ผลข้างเคียงน้อย และสามารถทำได้ทุกบริเวณของร่างกายที่มีสิวเสี้ยน
7. การเลเซอร์
มักจะกำจัดจุดดำๆ จากสิวเสี้ยนได้มากกว่าร้อยละ 50 และเมื่อทำหลายๆ ครั้งสามารถกำจัดสิวเสี้ยนได้เกือบหมด แต่ไม่ช่วยในเรื่องรูขุมขนที่กว้าง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสิวเสี้ยนได้อีก หลังทำอาจมีผลข้างเคียงคือ รอยแดงบริเวณ รูขุมขน ประมาณ 2-3 วัน รอยแดงดังกล่าวมักจะหายได้เอง วิธีนี้ใช้ได้ผลดีในกรณีของสิวเสี้ยนหัวดำ แต่ค่าบริการค่อนข้างสูง