สาเหตุการเกิดสิวเสี้ยน: กลไกและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิวเสี้ยน
สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ตั้งแต่วัยรุ่น วัยกลางคน จนถึงวัยสูงอายุก็สามารถพบได้ สิวเสี้ยนเกิดจากความผิดปกติของต่อมรูขุมขน (pilosebaceous follicles) โดยมีลักษณะคล้ายสิวอุดตันหัวดำ (black comedone) และมีกระจุกขนเล็กๆ หลายเส้น (villous telogen hair) แทรกอยู่ในหัวสิวอุดตันนั้นด้วย มีลักษณะเป็นจุดดำๆ เล็กๆ ตามใบหน้า หรือมีหนามแหลมๆ ยื่นออกมาทางรูขุมขนจำนวนมาก มักพบบริเวณปลายจมูก หน้าผาก ข้างแก้ม บริเวณคาง คอด้านหลัง ไหล่ หรือบริเวณกระดูกสะบัก
สิวเสี้ยนเกิดได้อย่างไร
กลไกการเกิดของสิวเสี้ยน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการสร้างเซลล์ขนมากผิดปกติ โดยมักจะเกิดบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก ดังนั้นผู้ที่มีผิวมัน หรือบางบริเวณของผิวหนังที่มักจะเกิดสิวเสี้ยนได้ง่าย การเกิดสิวเสี้ยน มักจะเริ่มจากมีการอุดตันเกิดขึ้นที่ท่อของต่อมไขมัน หรือต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ มีการผลิตไขมันออกมาสู่ผิวจำนวนมาก จึงเกิดการอุดตันในรูขุมขน คล้ายคลึงกับสิวที่เกิดตามธรรมชาติ และไขมันที่ถูกสร้างขึ้นนั้นจะรวมตัวกับเซลล์ชั้นขี้ไคลจากผนังท่อ กลายเป็นก้อนที่เรียกว่า โคมิโดน
ลักษณะสำคัญของสิวเสี้ยนที่ต่างจากสิวธรรมดา คือ นอกจากจะมีการอุดตันของไขมัน หรือโคมิโดน เป็นก้อนขาวๆ แล้วยังมีขนที่คุดคู้อยู่ข้างในด้วย คือในรูขุมขนแทนที่จะมีขนเพียงหนึ่งเส้น แต่กลับมีขนอ่อนเส้นเล็กๆ หลายเส้นอัดกันแน่นรวมตัวกับเซลล์ชั้นขี้ไคล และถูกห่อหุ้มด้วยผนังต่อมท่อไขมัน เกิดการอุดตัน และทำให้การหลุดร่วงของเส้นขนเล็กๆ นั้นไม่เป็นไปตามปกติ คือหลุดออกได้ยากกว่าปกติ ถ้าลองบีบดูจะเห็นเป็นเส้นสีขาว และหากส่องด้วยแว่นขยาย จะเห็นขนอ่อนจำนวนมาก ประมาณ 6-50 เส้น ทำให้นอกจากจะมีลักษณะเป็นจุดดำๆ มีหนามแหลมๆ ยื่นออกมา สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะเวลาใช้มือคลำจะรู้สึกสะดุดเป็นหนาม
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิวเสี้ยน
1. ฮอร์โมนเพศในร่างกาย ซึ่งมีผลกระตุ้นต่อมไขมัน ให้ทำงานมากขึ้น ผลิตไขมันออกมามาก อาจทำให้เกิดการอุดตันได้ง่ายขึ้น
2. การรบกวนผิว เช่น การเช็ดถูหน้าแรงๆ การขัดหรือนวดหน้า ซึ่งอาจรบกวนรูขุมขน หรือต่อมไขมัน ทำให้รูขุมขน หรือรากขนแตก ขนจึงมีโอกาสที่จะคุคอยู่ข้างในได้